ค้นหาชีววิทยา

คลังบทความ

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาการผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน วิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. แนวคิดที่เกี่ยวข้อง บรูเนอร์ (อ้างอิงในสำราญ พวงมาลัย, 2548) เชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดได้เมื่อผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และจะรับรู้สิ่งที่ตนเองเลือก หรือสิ่งที่ใส่ใจ การเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้เกิดการค้นพบความรู้เอง ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานดังนี้ -การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง -ผูเรียนแต่ละคนมีประการณ์และความรู้พื้นฐานที่แตกต่างกัน การเรียนรู้จะเกิดจากการที่ผู้เรียนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบใหม่กับความรู้เดิมแล้วนำมาสร้างเป็นความรู้ใหม่ Haber (1979) พบว่าบุคคลสามารถจดจำภาพได้ดีกว่าสิ่งเร้าชนิดอื่น เช่น การให้ดูภาพบุคคลต่างๆ ผลปรากฏว่าสามารถจดจำได้ ร้อยละ 90 Letfon & Vavatne (1992) อ้างใน สุวรี ศิวะแพทย์ (2550) กล่าวว่า ภาพเป็นสิ่งเร้าที่แตกต่างจากสิ่งเร้าประเภทอื่น เมื่อถูกนำเข้ารหัสจึงเป็นสิ่งเร้าที่เด่น สะดุดความคิดได้ง่าย ทำให้ฟื้นความจำได้เร็วกว่าสิ่งเร้าชนิดอื่น 2. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเขียนการ์ตูน 2.1 ความหมายของการ์ตูน เกษมา จงสูงเนิน (2523) กล่าวว่าการ์ตูนคือ ภาพวาดตัวแทนสัญลักษณ์ที่แสดงออกมามีความตลกขบขัน หรือล้อเลียนสังคม ซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดอารมณ์ แนวความคิด หรือแสดงความต้องการต่างๆ กรมวิชาการ (2534) อ้างในปรีชา เหล่าพันนา (2548) “การ์ตูน” เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษจากคำว่า “cartoon” หมายถึง แผ่นกระดาษที่มีภาพวาดต่อมาความหมายนี้เปลี่ยนแปลงไป เป็นภาพเชิงล้อเลียน เปรียบเปรย เสียดสี หรือการแสดงจินตนาการฝันเฟื่อง ประจวบ ฟักผล (2535) อธิบายความหมายของการ์ตูนว่า เป็นภาพวาดง่ายๆ ที่ไม่เหมือนของจริง ของคน สัตว์และสิ่งของ โดยอาศัยรูปร่างธรรมชาติในการสื่อความหมาย 2.2 หลักเกณฑ์ในการสร้างบทเรียนการ์ตูน วิริยะ สิริสิงห์ (2524) อ้างใน สำราญ พวงมาลัย (2548) กล่าวว่า การผลิตบทเรียนการ์ตูนจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบดังนี้ 1. สีของภาพ ผลการวิจัยส่วนมากทั้งในประเทสและต่างประเทศยอมรับว่ามีความสำคัญของภาพสี ในแง่ของการมีอิทธิพลต่อความต้องการอ่านและส่งผลต่อความชอบของเด็ก 2. ขนาดของภาพ ในการใช้ภาพในหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก ผู้ออกแบบมักเป็นห่วงเรื่องขนาดว่าขนาดใดที่เด็กชอบ ขนาดมีอิทธิพลต่อเด็กเพียงใด ภาพใหญ่ได้รับความสนใจจากเด็กมากกว่า ภาพเต็มหน้ากับภาพครึ่งหน้าเด็กก็ชอบเท่าๆกัน 3. ภาษาและตัวอักษร เด็กชอบตัวหนังสือที่ใช้ภาษาง่ายๆ ชอบคำซ้ำบ่อยๆ มีคำคล้องจองมีจังหวะในการเล่นคำ ชอบเรื่องที่มีตัวหนังสือน้อย ชอบใช้ตัวอักษรธรรมดา ไม่ชอบตัวอักษรแบบประดิษฐ์ -ขนาดตัวอักษร โดยหลักทางจิตวิทยา การรับรู้ในสายตอของเด็กนั้น จะเรียนรู้ในร่างหยาบๆ ไม่สนใจรายละเอียด หมายความว่าถ้าผู้อ่านอายุน้อยเพียงใดตัวอักษรต้องมีขนาดใหญ่ แต่หากเป็นเด็กโตตัวอักษรจะลดขนาดลง -สีของตัวอักษร หนังสือส่วนมากใช้ตัวอักษรสีดำพิมพ์บนพื้นขาว อย่างไรก็ตามความคำนึงถึงการตัดกันของสีตัวอักษรและสีพื้นด้วย -เนื้อเรื่อง เด็กชอบสนุก ขบขัน ชวนหัวเราะ แต่ไม่ต้องตลกหยาบคาย เรื่องไม่ต้องยาวเกินไป -กระดาษที่ใช้พิมพ์ ส่วนใหญ่ชอบกระดาษขาวที่หนามากกว่ากระดาษบาง -ขนาดรูปเล่ม หนังสือเล่มใหญ่กับเล่มเล็ก เด็กชอบเท่าๆ กัน แต่ชอบหนังสือปกแข็งมากกว่าปกอ่อน ความยาวควรอยู่ที่ 16-24 หน้า 2.3 ประโยชน์และโทษของการ์ตูนต่อการเรียนการสอน ประโยชน์ของการ์ตูน คณะนิสิตปริญญาโทเทคโนโลยีทางการศึกษา (2522) อ้างใน ปรีชา เหล่าพันนา (2549) กล่าวว่ามีผู้นำการ์ตูนมาใช้ประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการ์ตูนมีลักษณะที่น่าสนใจได้รวบรวมประโยชน์ของการ์ตูนเรื่องที่มีต่อการเรียนการสอน ดังนี้ 1. ทำให้นักเรียนสนใจเนื้อหาวิชามากขึ้น 2. ให้สอนเด็กเป็นรายบุคคล และทำให้การเรียนดีขึ้น 3. ฝึกการอ่านได้ดี 4. ทำให้นักเรียนสนใจในการอ่านมากขึ้น โทษของการ์ตูน ความทันสมัย และยุคโลกาภิวัฒน์ ความคิดของคนเขียนการ์ตูน เปลี่ยนแปลงไป การเขียนการ์ตูนทำเพื่อในเชิงธุรกิจ เนื้อหาและรูปแบบการ์ตูนจึงปลูกฝังทางลบกับผู้อ่าน เช่นการ์ตูนที่มีภาพลักษณะลามก ผิดศีลธรรม และใช้วาจาหรือคำอธิบายไม่สุภาพ เป็นต้น ทำให้เกิดผลเสีย สร้างพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ให้กับผู้อ่าน เช่น 1. การ์ตูนลามก ทำให้เกิดการฆาตกรรม และพฤติกรรมอื่นๆ ที่ผิดศีลธรรม 2. ภาษาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้นแบบของผู้อ่าน นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน 3. เนื้อหาไม่เหมาะสม ทำให้ผู้อ่านเก็บกด และเกิดการเลียนแบบ เป็นต้น 2.3 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เกษมา จงสูงเนิน (2527) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสนใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนด้วยการใช้กับไม่ใช้หนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนในการสอนตามคู่มือครูของ สสวท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนด้วยการใช้กับไม่ใช้หนังสือการ์ตูนประกอบบทเรียน ในการสอนตามคู่มือครูของนักเรียนของ สสวท. สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบุญวัฒนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2532 จำนวน 90 คน เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 45 คน แบ่งนักเรียนแต่ละกลุ่มตามระดับความสามารถสูง ปานกลาง และต่ำ โดยใช้เทคนิค 33 %ของเคอร์ตัน ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่เรียนด้วยการใช้กับไม่ใช้หนังสือการ์ตูนประกอบบทเรียนในการสอน ตามคู่มือครูของ สสวท. มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักเรียนที่เรียนด้วยการใช้หนังสือการ์ตูนประกอบบทเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่า ศราวุธ จักรเป็ง (2541) ศึกษาวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างการสอนโดยใช้หนังสือการ์ตูนกับการสอนปกติ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาภาษาไทยเรื่องสังข์ทอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างการสอนโดยหนังสือการ์ตูนกับการสอนแบบปกติ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ยูนิตดี 3 ) ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2540 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น(ศึกษาศาสตร์) จังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 ยูนิท จำนวน 198 คน เป็นกลุ่มเป้าหมาย 66 คน ผลการวิจัยพบว่าผลสัมฤทธืทางการเรียนวิชาภาษาไทยในเนื้อเรื่องสังข์ทอง ของกลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่ม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0 .05 โดย ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนกลุ่มที่สอนโดยใช้หนังสือการ์ตูนสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนแบบปกติ จีรนันท์ คงรักษา (2542) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้กับความคงทนในการจำโดยใช้สไลด์ประกอบเสียงภาพการ์ตูนและภาพเหมือนจริง วัตถุประสงค์คือศึกษาเปรียบเทียบความคงทนในการจำ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ศึกษาจากสไลด์ ประกอบเสียงภาพการ์ตูนกับภาพเหมือนจริง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2540 จากกลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา เขตสวนหลวง สังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 8 โรงเรียน มีลักษณะการเรียนการสอนแบบสหศึกษา และจัดนักเรียนแต่ละห้องแบบคละชายหญิง ไม่แบ่งกลุ่มคะแนนกลุ่มเป้าหมายได้มาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ได้ 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดทองใน โรงเรียนวัดใต้และโรงเรียนวัดปากบ่อ จำนวน 120 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆ 60 คน กลุ่มทดลองที่ 1 เรียนรู้จากสไลด์ประกอบเสียงภาพการ์ตูน กลุ่มทดลองที่ 2 เรียนรู้จากสไลด์ประกอบเสียงภาพเหมือนจริง ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มนักเรียนที่เรียนจากสไลด์ประกอบเสียงภาพการ์ตูน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ และมีความคงทนในการจำสูงกว่า กลุ่มนักเรียนที่เรียนจากสไลด์ประกอบเสียงภาพเหมือนจริง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 มานพ คูหาแก้ว (2542) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการเขียนรูปประโยคระหว่างการสอนโดยใช้แผ่นภาพการ์ตูนกับการสอนปกติของนักเรียน ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถ ในการเขียนรูปประโยคภาษาไทยระหว่างการสอนโดยใช้แผ่นภาพ การ์ตูนกับการสอนแบบปกติของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน สำหรับประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ระดับการได้ยินระหว่าง 80-100 เดซิเบล ในชั้นพิเศษของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ที่มีระดับสติปัญญาปกติและไม่มีความพิการอื่นๆ แทรกซ้อน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2541 ที่มีระดับการได้ยินระหว่าง 80-100 เดซิเบล ซึ่งมีระดับสติปัญญาปกติและไม่มีความพิการอื่นๆ แทรกซ้อนสุ่มโดยวิธีเจาะจง ศึกษาเฉพาะโรงเรียนพญาไท เขตราชเทวี จังหวัดกรุงเทพมหานครซึ่งมีนักเรียนในระดับนี้ 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 8 คน ผลการวิจัยพบว่าความสามารถในการเขียนประโยคหลังการเรียนของนักเรียนทั้งสองกลุ่มสูงขึ้น และนักเรียนที่เรียนจากภาพการ์ตูนล้อของจริงมีความสามารถในการเขียนรูปประโยคสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากบัตรคำอย่างเดียว เพลน กรองทอง (2542) ศึกษาวิจัยเรื่อง การสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหว วิชาภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนกับหลังการสอนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหว สำหรับกลุ่มเป้าหมายประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประชานิเวศน์ กรุงเทพมหานคร จำนวน 4 ห้องเรียน รวม 180 คน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประชานิเวศน์ สังกัดกรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2542 โดยคัดเลือกนักเรียนมา 1 ห้องเรียน จำนวน 45คน ผลการวิจัยพบว่าประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหววิชาภาษาอังกฤษ เรื่อง คำบุพบท มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ หลังเรียน โดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวเรื่อง คำบุพบท สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 วิมลรัตน์ ศรีสุข (2543) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาพัฒนาการของการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ และคุณลักษณะทางจิตพิสัยที่พึงประสงค์ด้านความมีน้ำใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการสอนโดยวิธีการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ด้วยบทเรียนการ์ตูน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการ-สอนโดยวิธีการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ด้วยบทเรียนการ์ตูนและสำรวจคุณลักษณะทางจิต-พิสัยที่พึงประสงค์ด้านความมีน้ำใจหลังจากเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่องฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึมโดยวิธีการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ด้วยบทเรียนการ์ตูน สำหรับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ห้อง 3 และห้อง 6 ปีการศึกษา 2543 จำนวน 83 คน ผลการวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบก่อนเรียนและค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบหลังเรียนมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และพบว่าหลังจากเรียนแบบร่วมมือกันเรียนบทเรียนการ์ตูนมีการปฏิบัติที่แสดงถึงความมีน้ำใจระดับปานกลางหรือพอใช้ได้ ทับทิม สุริยสุภาพงษ์ (2544) ศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมทักษะในการอ่านจับใจความภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการสอนแบบปกติและใช้บทเรียนการ์ตูน สำหรับกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2545 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง)จำนวน 98 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและทดลองกลุ่มละ 49 คน ผลการวิจัยพบว่าทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 โดยกลุ่มที่ใช้การเรียนแบบบทเรียนการ์ตูนมีผลการเรียนที่ดีกว่า เนตรนภิศ สนองคุณ (2544) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาที่เรียนโดยใช้แผ่นภาพการ์ตูน ที่ใช้แผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบและแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบกับแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงาเพื่อเน้นสาระสำคัญ สำหรับประชากรเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลยุคลธร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กรุงเทพมหานคร จำนวน 90 คน กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลยุคลธร กรุงเทพมหานคร ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2544 จำนวน 40 คน โดยใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย จากกลุ่มเป้าหมายที่สุ่มมาได้ 40 คน ทำการสุ่มโดยการจับสลาก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน ได้แก่ กลุ่มทดลองที่ 1 เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบ กลุ่มทดลองที่ 2 เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงา ผลการวิจัยพบว่าแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบมีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.50/86.50 และแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงามีประสิทธิภาพเท่ากับ 93.00/91.50 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้จากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและมีความก้าวหน้าทางการเรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบ บรรเจิด พรศิริรัตน์ (2545) ศึกษาเรื่องเจตคติของนักเรียนระดับประถมศึกษาต่อหนังสือการ์ตูน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเจตคติของนักเรียนระดับประถมศึกษาต่อหนังสือการ์ตูนไทย ฝรั่งและญี่ปุ่น การสุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย 499 คน เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ในจังหวัดอุดรธานี ผลการวิจัยพบว่าเด็กไทยชอบสำนวนการ์ตูนไทยแต่ชอบรูปภาพของการ์ตูนญี่ปุ่นในระดับปานกลาง สมาน เขียวเขว้า (2544) ศึกษาวิจัยเรื่องการผลิตหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเรื่อง จังหวัดของเรา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เรื่อง จังหวัดของเรา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพโดยผลการทดลองมีค่าดัชนีประสิทธิผล 0.50 ขึ้นไปสำหรับประชากรเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหนองฉิม (สิงห์จันทร์บำรุง) อำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ ปีการศึกษา 2543 จำนวน 2 ห้องเรียน นักเรียน 72 คน กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2543 โรงเรียนบ้านหนองฉิม (สิงห์จันทร์บำรุง) อำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 43 คน โดยการจัดกลุ่มนักเรียนตามความสามารถทางการเรียน และสุ่มอย่างง่าย ผลการวิจัยพบว่าผลการศึกษาพบว่า การผลิตหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน ได้ค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.55 แสดงว่าหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เรื่อง จังหวัดของเรา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนได้ ปรีชา เหล่าพันนา (2549) ศึกษาเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่ไม่ถนัดวิชาคณิตศาสตร์ด้วยบทเรียนการ์ตูน โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อพัฒนาบทเรียนการ์ตูนและเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของสาระคณิตศาสตร์โดยเฉพาะนักเรียนที่ไม่ถนัดวิชาคณิตศาตร์ สำหรับประชากรเป็นนักเรียนในระดับช่วงชั้นที่ 3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบำเหน็จณรงค์วิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ ปีการศึกษา 2546 จำนวน 270 คน และกลุ่มเป้าหมายถูกสุ่มมาอย่างเจาะจงเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างมีปัญหา โดยเลือกห้องที่มีปัญหามากที่สุด ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนการ์ตูนมีผลการเรียนที่ดีกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ 0.05 ธวัชชัย ศรวิชัย (2550) ศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาแผนการเรียนรู้โดยใช้หนังสือการ์ตูน เรื่องฆราวาสธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัมนาแผนการจัดการเรียนรู้ที่ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 มีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้างยางน้อยตองปิด จังหวัดศรีสะเกษ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 ผลการวิจัยปรากฏว่าได้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพตามที่ได้กำหนดไว้ อำไพพิศ เกตุวงศ์ (2550) ศึกษาวิจัยเรื่อง รายงานการสร้างและการใช้หนังสือประกอบภาพการ์ตูน เรื่อง ทิศ 6 และพรหมวิหาร 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหนังสือประกอบภาพการ์ตูนให้มีประสิทธิภาพแบบ 80/80 สำหรับประชากรที่ใช้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหลักเมืองมหาสารคาม ปีการศึกษา 2549 จำนวน 414 คน และกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหลักเมืองมหาสารคามที่กำลังศึกษาในปีการศึกษา 2549 จำนวน 45 คนที่ถูกสุ่มมาแบบกลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า หนังสือการ์ตูนเรื่อง ทิศ 6 และพรหมวิหาร 4 ที่ผลิตขึ้นมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 91.33/90.15 ดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

แผนการสอนชีววิทยา

แผนการสอนชีววิทยา

สมัครสมาชิก