ค้นหาชีววิทยา

คลังบทความ

ที่มาและความสำคัญ

บทที่ 1 บทนำ 1. ที่มาและความสำคัญ การศึกษาคือความหวังในการสร้างคนที่มีคุณภาพของประเทศ ดังนั้นการศึกษาจึงต้องสนองต่อความต้องการของประชาชนซึ่งมีความคาดหวังที่สูงขึ้นเรื่อยมา จากยุคสมัยที่รัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุคทองแห่งการการปฏิรูปการปกครองและการศึกษา คนคาดหวังให้พออ่านออกเขียนได้ ในสมัยรัชกาลที่ 7 รู้เพื่อพอแค่สำหรับการทำมาหากินได้เท่านั้นเอง ยุค พ.ศ. 2500 รู้เอาตัวรอดทันคนในสังคม ยุค พ.ศ. 2525 ต้องจัดสรรการเรียนรู้ในองค์กร ยุค พ.ศ. 2540 สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในยุค พ.ศ. 2550 รู้ดีเยี่ยมแข่งขันได้ในเวทีโลก และในอนาคตอันใกล้ คาดหวังว่าคนไทยจะเป็นเอกทางการศึกษา (จรวยพร ธรนินทร์, 2550) ประเทศไทยถูกจัดอันดับทางการศึกษาในลำดับที่ 46 จาก 190 ประเทศทั่วโลก และพบว่าสัดส่วนของครูและนักเรียนไม่สมดุลกัน ครูมีจำนวนความรับผิดชอบต่อเด็กมากกว่าปกติ คือ 1: 21 ในทางการศึกษาด้านวิทยาศาตร์ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 32 จากประเทศที่เข้าร่วมจัดลำดับทั้งหมด 42 ประเทศ (จรวยพร ธรนิทนร์, 2550) ในการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ พบว่าสื่อมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น แต่ในสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยยังต้องพึ่งสื่อเอกสารมากกว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่เนื่องจากว่าความจำกัดทางด้านงบประมาณ ดังนั้นสื่อสิ่งพิมพ์จึงยังมีความสำคัญต่อการศึกษาไทย (สังคม ภูมิพันธ์ และคณะ, 2548) ปัจจุบันผู้เรียนในช่วงชั้นที่ 3 และ4 ร้อยละ 90 พบว่ามีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือการ์ตูนแปลมาจากภาษาญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งเวลาเรียนยังแอบอ่านอยู่ จนเป็นสาเหตุให้ผลการเรียนตกต่ำ อีกทั้งเกิดการเสื่อมถอยทางวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ครูและผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการแนะนำและห้ามปรามผู้เรียนให้เลือกอ่านแต่หนังสือที่ดีที่มีประโยชน์มากกกว่า และรู้จักนำเสนอข้อดีข้อเสียของการ์ตูนให้เด็กทราบ ด้วยวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งใดๆของทั้งสองฝ่าย (สนิท แคร่กระโทก, 2533) ดังนั้นผู้วิจัยจึงเล็งเห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทการ์ตูนมีบทบาทอย่างมากต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้สอนหรือครูสามารถดึงเอาจุดน่าสนใจของการ์ตูนมาเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนได้ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนด้วย โดยเฉพาะในการสอนวิชาชีววิทยานั้นผู้เรียนให้ความเห็นว่าวิชาวิทยาศาสตร์ต้องมีการเรียนรู้แบบท่องจำ เมื่อทำไม่ได้ก็ท้อ เกิดความไม่อยากเรียนรู้ขึ้นมาเลยเหมารวมวิชาวิทยาศาสตร์ว่าต้องจำให้ได้ และท่องเก่ง สำหรับสาเหตุหลักของการไม่ชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ (สำราญ พวงมาลัย, 2548)ได้แก่ 1. ด้านผู้สอนขาดเทคนิคและวิธีการที่ดีในการสอน ขาดความเอาใจใส่ในการสอนอย่างเต็มที่ซึ่งพบว่าครูส่วนใหญ่ไม่สอนตามแผนการสอนของสสวท. ไม่รู้จักเชื่อมโยงความรู้ใหม่และเก่าเข้าด้วยกันกับความรู้ที่เป็นปัจจุบัน และมีการสอนแบบเน้นครูเป็รศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติที่เน้นการท่องจำบทเรียนให้กับเด็กอย่างไม่รู้ตัว 2. ด้านผู้เรียน พบว่าผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการรับฟังหรือจดบันทึก ทำให้เกิดการเรียนรู้หรือจดจำเนื้อหาได้แค่เพียงในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากไม่ได้เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการสืบเสาะแสวงหาด้วยตนเอง เพราะขาดความรับผิดชอบเอาใจใส่ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะนำเอาความรู้ใหม่มาผนวกกับความรู้เดิมที่มีอยู่ได้ 3. ด้านเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ ในเรื่องที่เป็นทฤษฎี ไม่มีการปฏิบัติ หรือการทดลองเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับผู้เรียน ทำให้ขาดความสนในเนื้อหาได้ 4. ด้านสภาพแวดล้อม บรรยากาศของบริเวณโรงเรียน สื่อการเรียนการสอน สภาพห้องเรียนที่น่าเบื่อจำเจซ้ำซาก ล้วนแต่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งนั้น จากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว และยังพบว่ามีการผลิตสื่อบทเรียนการ์ตูนในรายวิชาอื่นๆ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์บ้างแล้ว แต่สื่อบทเรียนการ์ตูนยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย ผู้วิจัยจึงมีความสนใจในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนด้วยการใช้สื่อการสอนประเภทบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่และแมลง ควบคู่กับการนำเสนอด้วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ และดึงดูดให้เกิดความอยากเรียนในเนื้อหา และลดความเข้าใจผิดที่ว่าชีววิทยาเป็นวิชาที่ต้องท่องจำ นอกจากนี้การนำการ์ตูนเข้ามามีบทบทาทในการเรียนรู้อีกหนทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะในการอ่านอีกด้วย วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. เพื่อผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน วิชา ชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 2. เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนก่อนและหลังเรียนเมื่อใช้บทเรียนการ์ตูนเป็นสื่อการสอน ในรายวิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของไก่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 1. บทเรียนการ์ตูนที่เป็นประโยชน์ใช้ในการเผยแพร่ทางการศึกษา 2. ตัวอย่างที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการวิจัยเพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนในเรื่องอื่น หรือรายวิชาอื่นๆ ต่อไป คำถามวิจัย การใช้บทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลงจะช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือไม่ ขอบเขตของการศึกษา 1. กลุ่มเป้าหมาย -นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 31 คน สำหรับการทดสอบหาประสิทธิภาพแบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง -นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 42 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับผลการเรียนเฉลี่ย คือ กลุ่มสูง กลุ่มกลาง และกลุ่มต่ำ จำนวนกลุ่มละ 14 คน สำหรับการทดสอบหาค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนการ์ตูน 2. เนื้อหาวิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ การเจริญเติบโตของไก่ และการเจริญเติบโตของแมลง 3. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 3.1 บทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 3.2 แบบทดสอบก่อนและหลังเรียนแบบปรนัย 4 ตัวเลือก เรื่อง การเจริญเติบโตของไก่ การเจริญเติบโตของกบ และการเจริญเติบโตของแมลง อย่างละ 10 ข้อ 10 คะแนน 3.3 แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (5E) 3 แผน ประกอบด้วย 3.3.1. การเจริญเติบโตของกบ 3.3.2. การเจริญเติบโตของไก่ 3.3.3. การเจริญเติบโตของแมลง 4. ข้อตกลงเบื้องต้น -บทเรียนการ์ตูน หมายถึง หนังสือการ์ตูนที่ใช้อ่านประกอบการเรียนการสอนที่สร้างขึ้นโดยมีภาพการ์ตูนดำเนินเรื่องราว ทำรูปเล่มเป็นขนาดกระดาษ A4 มีการสนทนาของตัวการ์ตูนในหนังสือซึ่งมีความสอดคล้องกับ เนื้อหาเรื่อง การเจริญเติบโตของกบไก่ และแมลง สำหรับประกอบการเรียนการสอนทั้งกอ่นเรียน และขณะเรียน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 -แบบทดสอบ หมายถึง แบบทดสอบเรื่อง การเจริญเติบโตของกบไก่ และแมลงที่ประกอบด้วยข้อสอบแบบปรนัยแบบ 4 ตัวเลือก เรื่องละ 10 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน -ค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนการ์ตูน (E.I. : The Effectiveness Index) หมายถึง ตัวเลขที่แสดงถึงประสิทธิภาพที่จะเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนหลังจากที่เรียนรู้ด้วยบทเรียนการ์ตูนแล้ว ซึ่งมีค่ามากกว่า 0.50 ขึ้นไปจึงจะมีประสิทธิภาพที่ยอมรับได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

แผนการสอนชีววิทยา

แผนการสอนชีววิทยา

สมัครสมาชิก