ค้นหาชีววิทยา

คลังบทความ

ดาวน์โหลดวิจัยในชั้นเรียนฉบับไมโครซอฟเวิร์ด

ดาวน์โหลดวิจัยในชั้นเรียนได้ที่นี่
บทคัดย่อ
สารบัญ
ที่มาและความสำคัญ
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
วิธีการดำเนินการวิจัย
ผลการวิจัย
สรุปผลและอภิปราย
เอกสารอ้างอิง
แผนการสอนประกอบวิจัย

ข้อเสนอแนะ

-ในการทดลองหาค่าดัชนีประสิทธิภาพของบทเรียนการ์ตูนควรควบคุมเวลา การเลือกสถานที่ในการอ่าน สถานการณ์ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ ดังนั้นการศึกษาในครั้งต่อไปควรควบคุมเวลา สถานที่ที่กลุ่มเป้าหมายใช้ในการศึกษาบทเรียนอย่างเหมาะสม เช่น การจัดสถานที่/สภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่วนสถานการณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนหรือสืบเสาะค้นคว้าในหนังสือการ์ตูนควรเป็นช่วงเวลาที่สบายต่อร่างกาย รู้สึกผ่อนคลาย และไม่มีความรีบร้อน และห่างจากเสียงรบกวนสมาธิในการอ่าน -การผลิตบทเรียนการ์ตูนควรใช้สำนวนที่เข้าใจง่ายไม่เป็นวิชาการมากนัก ควรนำเอาสิ่งใกล้ตัวผู้เรียนมานำเสนอเป็นตัวอย่างประกอบในบทเรียนการ์ตูน เพื่อผู้เรียนจะได้เห็นภาพและเข้าใจง่ายขึ้น -การผลิตบทเรียนการ์ตูนต้องคำนึงวัยของผู้เรียว่าอยู่ในวัยใด มีความต้องการสิ่งใด แล้วนำมาประยุกต์เป็นส่วนประกอบในบทเรียนการ์ตูน เช่น น่าจะนำเอาตัวการ์ตูนแบบญี่ปุ่นเข้ามาเป็นตัวละครในบทเรียนการ์ตูน เพราะว่าผู้เรียนที่ผู้วิจัยทำการศึกษาอยู่ในช่วงวัยที่ชอบค้นหาตัวเอง และชอบอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว -การให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการผลิตการ์ตูนน่าจะส่งผลต่อความสนใจมากขึ้น เช่น การให้ระบายสีในเนื้อเรื่องการ์ตูนตามชอบ น่าจะทำให้ผูเรียนซึมซับความรู้ความเข้าใจมากขึ้น -ในบางกรณีอาจส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการต่อยอดของความรู้ด้วยการสืบค้นข้อมูลต่อเนื่อง เป็นต้นว่าการสืบค้นข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของสัตว์ที่ศึกษาแล้วนำเสนอต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียน อันเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านการอ่านและการสืบค้นข้อมูลได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังการเรียนรู้ตลอดชีวิต

อภิปรายผลการศึกษา

การศึกษาการผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน วิชา ชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้บทเรียนการ์ตูนที่สามารถนำมาใช้ประกอบการสอนเรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง 1. สามารถลดบทบาทของผู้สอนได้ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายที่จะให้ครูเป็นเพียงผู้ดำเนินการให้เกิดการเรียนรู้เท่านั้น 2. การสอนด้วยการนำเอาบทเรียนการ์ตูนเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบสืบเสาะ พบว่าผู้เรียนมีความสุข สนุกสนาน พึงพอใจ 3. การเรียนการสอนด้วยการนำบทเรียนการ์ตูนมาเป็นสื่อการสอนสามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในการเรียนวิชาชีววิทยาในเรื่อง การเจริญเติบโตของกบ การเจริญเติบโตของไก่ และการเจริญเติบโตของแมลงได้ดี 4. การพัฒนาบทเรียนการ์ตูนในขั้นตอนของการสร้างและทดสอบหาค่าดัชนีประสิทธิผลนั้น อาจจะต้องมีการพัฒนามากกว่า 3 การทดลอง คือ แบบหนึ่งต่อหนึ่ง แบบกลุ่มย่อย และแบบภาคสนาม

สรุปผลการศึกษา

5. สรุปผลการศึกษา ผลการศึกษาเรื่อง ผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน วิชา ชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง การเจริญเติบโตของกบ การเจริญเติบโตของไก่ และการเจริญเติบโตของแมลงแล้วนำมาสอนควบคู่กับแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนการ์ตูนในการทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง แบบกลุ่มย่อย และแบบภาคสนามจะกระทั่งได้ค่าคะแนนผลการทดสอบก่อนและหลังเรียนมาคำนวณหาค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) ของบทเรียนการ์ตูนเรื่อง การเจริญเติบโตของกบ การเจริญเติบโตของไก่ และการเจริญเติบโตของแมลง เท่ากับ 0.5, 0.7 และ 0.42 ตามลำดับ ซึ่งเป็นบทเรียนการ์ตูนที่มีประสิทธิภาพตามที่ได้วางไว้ยกเว้นบทเรียนการ์ตูนเรื่อง การเจริญเติบโตของแมลงยังไม่สามารถนำมาสอนได้จริง และพบว่าหลังจากเรียนด้วยบทเรียนการ์ตูนแล้วกลุ่มเป้าหมายมีผลการเรียนที่ดีกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ 0.05

การผลิตบทเรียนการ์ตูน(4)

2.4 ขั้นปรับปรุงบทเรียนการ์ตูน 1) ปรับปรุงการออกแบบปกใหม่ ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่นำเสนอ เช่น การเจริญเติบโตของไก่ ภาพที่ปกควรเป็นภาพไก่ ไม่ควรนำภาพเด็กไทยมาแทนไก่ สร้างให้ปกมีความสะดุดตาน่าอ่าน น่าค้นคว้า เป็นต้น 2) ปรับปรุงเนื้อหาบางตอนที่ยังไม่กระชับให้มีความกระชับมากขึ้น ชัดเจน และสื่อความหมายได้ตรงกับความต้องการอย่างชัดเจน 3) ปรับปรุงกิริยาท่าทางของตัวการ์ตูนให้มีคามสอดคล้องกับเนื้อหามากขึ้นและสร้างองค์ประกอบให้การ์ตูนดูเหมือนมีชีวิตชีวา หลังจากที่ได้ผลิตบทเรียนการ์ตูนและนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญแล้วก็ทำการปรับปรุงในส่วนที่ควรพัฒนาให้ดีขึ้น เร้าความสนใจของผู้อ่านมากขึ้น และแทรกความตลกขบขันบ้าง ต่อจากนั้นก็ผลิตบทเรียนการ์ตูนฉบับจริงตามจำนวนที่ต้องการ เพื่อนำมาทดสอบประสิทธิภาพของการ์ตูนกับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อให้ได้ค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) ตามเกณฑ์ที่วางไว้คือ มีค่ามากกว่า 0.50

การผลิตบทเรียนการ์ตูน(3)

ขั้นการผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการสอน การผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนมีขั้นดังนี้ 1) สืบค้นรูปภาพการ์ตูนจากหนังสือต่างๆ และสื่ออินเทอร์เน็ต เช่น คลิปอาร์ทที่สอดคล้องกับรูปแบบของบทเรียนที่ได้วางไว้ และสามารถที่จะเร้าความสนใจของผู้อ่านได้ 2) ออกแบบการจัดหน้าบทเรียนการ์ตูนแต่ละหน้าตามโครงร่างหนังสือการ์ตูนที่ได้วางแผนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ 3) จัดวางภาพที่สืบค้นมาได้ เช่น ภาพกระต่าย ภาพเด็กไทย และภาพหมี ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การนำเสนอในแต่ละหน้า 4) ออกแบบปกและส่วนอื่นๆ ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 5) ผลิตบทเรียนการ์ตูนเย็บรวมเล่มแล้วนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ให้คำแนะนำ และข้อควรปรับปรุงพัฒนารูปแบบ การจัดวางตัวการ์ตูนให้ดีขึ้น

การผลิตบทเรียนการ์ตูน(2)

2.1 ขั้นการผลิตต้นร่างบทเรียนการ์ตูน ผู้วิจัยได้จัดการผลิตต้นร่างหนังสือการ์ตูนตามที่ได้วางแผนไว้กับผู้เชี่ยวชาญให้มีความสอดคล้องกับเนื้อหา และผลกาารเรียนรู้ที่คาดหวัง เมื่อนำมาเสนอผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่ามีเนื้อหาเยอะเกินไป อ่านแล้วเครียด ควรจัดให้มีภาพเยอะๆ ถ้าเป็นไปได้ให้มีภาพที่สามารถสื่อความแทนตัวหนังสือได้ยิ่งดี

การผลิตบทเรียนการ์ตูน(1)

2.1 ขั้นเตรียมการผลิตหนังสือ กระบวนการจัดเตรียมการผลิตบทเรียนการ์ตูนนั้นผู้วิจัยได้ทำการวางแผนในการผลิตร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และสืบค้นรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการผลิต เช่น การสืบค้นรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนการ์ตูนทั้งความหมาย การจัดจำแนกประเภทของการ์ตูน วิธีการผลิตบทเรียนการ์ตูนเพื่อนำมาประกอบการเรียนการสอน อีกทั้งยังสืบค้นเนื้อหาที่สอดคล้องกับโครงสร้างของหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในช่วงชั้นที่ 4 การจัดเตรียมโครงเรื่องร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เพื่อจะผลิตเป็นบทเรียนการ์ตูนทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ การเจริญเติบโตของกบ การเจริญเติบโตของไก่ และการเจริญเติบโตของแมลงให้มีความเหมาะสมทั้งด้านเนื้อหา และรูปแบบการนำเสนอ

ประสิทธิภาพของแบบทดสอบ

บทที่ 4 ผลการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาบทเรียนการ์ตูนในการสอนวิชาชีววิทยาเรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สำหรับผลการศึกษาเป็นดังนี้ 1. การหาประสิทธิภาพของแบบทดสอบ 2. การผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน 3. การหาค่าประสิทธิภาพของบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน ------------------------------------------------------------------------------------- 1. การหาประสิทธิภาพของแบบทดสอบ 1. ศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2544 เพื่อทำการศึกษาขอบเขตเนื้อหารายวิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และค้นคว้าเอกสารรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2. สร้างแบบทดสอบวัดความรู้เรื่อง การเขริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง ด้วยการยึดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังเป็นเกณฑ์ สร้างแบบทดสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือก ได้แบบทดสอบทั้งหมด 3 ชุด ชุดละ 10 ข้อ รวมเป็น 30 ข้อ ประกอบด้วย ชุดที่ 1 การเจริญเติบโตของกบ ชุดที่ 2 การเจริญเติบโตของไก่ และชุดที่ 3 การเจริญเติบโตของแมลง 3. นำแบบทดสอบทั้งหมดมาวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาและให้ค่าคะแนนความสอดคล้องในข้อทดสอบแต่ละข้อ ถ้าเหมาะสมให้ค่าคะแนนเป็น 1 ถ้าไม่แน่ใจให้ค่าคะแนนเป็น 0 แต่ถ้าไม่เหมาะสมให้ค่าคะแนนเป็น -1 ผลการวิเคราะห์แล้วปรับปรุงให้ได้แบบทดสอบจำนวน 30 ข้อ 4. นำข้อสอบที่ผ่านการคัดเลือกและปรับปรุงแล้วเรียบร้อยมาดำเนินการสอบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่เคยเรียนเรื่องการเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลงมาแล้ว จำนวน 31 คน แล้วนำมาตรวจคำตอบและให้ค่าคะแนนและตรวจหาความยากง่ายและค่าอำนาจการจำแนกของแบบทดสอบแต่ละข้อด้วยโปรแกรม TAP ที่แนะนำโดย ผศ. ไพศาล สุวรรณน้อย วิเคราะห์เลือกเอาเฉพาะแบบทดสอบที่มีค่าการจำแนกเป็น 0.2 ขึ้นไปและค่าความยากง่ายของแบบทดสอบที่มีค่า 0.20-0.80 ได้หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบเท่ากับ 0.66 5. นำข้อสอบดังกล่าวมาปรับปรุงให้ดีขึ้นและตรงกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแล้วนำข้อสอบมาร่วมทดสอบเพื่อหาดัชนีประสิทธิภาพของการ์ตูนต่อไป

ประสิทธิภาพของหนังสือการ์ตูน

การทดลองหาประสิทธิภาพของหนังสือการ์ตูน การทดสอบหาค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนการ์ตูนแต่ละเล่มดำเนินกาตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง (One-to-one Testing) โดยการนำหนังสือการ์ตูนไปทดลองกับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 3 คน ด้วยการให้ทำแบบทดสอบก่อนเรียนของแบบทดสอบเรื่องการเจริญเติบโตของกบ แบบทดสอบเรื่องการเจริญเติบโตของไก่ และแบบทดสอบเรื่องการเจริญเติบโตของแมลง จำนวนชุดละ 10 ข้อ 10 คะแนน ใช้เวลา 10 นาที (ตามแผนการสอน) หลังจากนั้นให้อ่านหนังสือการ์ตูนตามความเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีความสามารถในการอ่านและรับรู้ความหมายในส่วนของสาระจากหนังสือการ์ตูนที่ไม่เท่ากัน ผู้ทำการศึกษาได้สังเกตพฤติกรรมการอ่าน การใช้เวลาในการอ่านที่เหมาะสมของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการปล่อยให้อ่านอย่างอิสระและหยุดอ่านทันทีที่ตอนเองคิดว่ามีความเข้าใจมากพอแล้วแล้วทำแบบทดสอบหลังเรียนทันที ซึ่งแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนคือข้อสอบชุดเดียวกัน แล้วสอบถามกลุ่มเป้าหมายว่าหนังสือการ์ตูนมีความเหมาะสมแล้วหรือยัง ในแง่ของภาพ การดำเนินเรื่องตรงที่ไม่เข้าใจ แล้วนำค่าคะแนนของนักเรียนมาหาค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) และนำค่าเฉลี่ยที่ได้จากการอ่านการ์ตูนของนักเรียนมาเป็นเกณฑ์ 2. การทดลองแบบกลุ่มเล็ก (small group testing) นำหนังสือการ์ตูนที่ปรับปรุงแล้วมาทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย 9 คน ด้วยการให้ทำแบบทดสอบก่อนเรียนจำนวน 10 ข้อ 10 คะแนน ใช้เวลา 10 นาทีหลังจากนั้นให้อ่านหนังสือการ์ตูนภายในเวลาที่กำหนด คือ 1 วัน แล้วทำแบบทดสอบหลังเรียน ซึ่งแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนคือข้อสอบชุดเดียวกัน แล้วสอบถามกลุ่มเป้าหมายว่าหนังสือการ์ตูนมีความเหมาะสมแล้วหรือยัง ในแง่ของภาพ การดำเนินเรื่องตรงที่ไม่เข้าใจ แล้วนำค่าคะแนนของนักเรียนมาหาค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) และนำค่าเฉลี่ยที่ได้จากการอ่านการ์ตูนของนักเรียนมาเป็นเกณฑ์ 3. การทดลองแบบกลุ่มใหญ่ (field testing) นำหนังสือการ์ตูนที่ปรับปรุงแล้วมาทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายประมาณ 30 คน ด้วยการให้ทำแบบทดสอบก่อนเรียนจำนวน 10 ข้อ 10 คะแนน ใช้เวลา 10 นาที หลังจากนั้นให้อ่านหนังสือการ์ตูนภายในเวลาที่กำหนด คือ 1 วัน แล้วทำแบบทดสอบหลังเรียนทันที ซึ่งแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนคือข้อสอบชุดเดียวกัน แล้วนำค่าคะแนนของนักเรียนมาหาค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) และนำค่าเฉลี่ยที่ได้จากการอ่านการ์ตูนของนักเรียนมาเป็นเกณฑ์

วิธีการสร้างแบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้

วิธีการสร้างแบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้ 1. ศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2544 เพื่อทำการศึกษาขอบเขตเนื้อหารายวิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และค้นคว้าเอกสารรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2. สร้างแบบทดสอบวัดความรู้ด้วยการยึดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังเป็นเกณฑ์ สร้างแบบทดสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือก ได้แบบทดสอบทั้งหมด 3 ชุด ชุดละ 10 ข้อ รวมเป็น 30 ข้อ ประกอบด้วย ชุดที่ 1 การเจริญเติบโตของกบ ชุดที่ 2 การเจริญเติบโตของไก่ และชุดที่ 3 การเจริญเติบโตของแมลง 3. นำแบบทดสอบทั้งหมดมาวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาและให้ค่าคะแนนความสอดคล้องในข้อทดสอบแต่ละข้อ ถ้าเหมาะสมให้ค่าคะแนนเป็น 1 ถ้าไม่แน่ใจให้ค่าคะแนนเป็น 0 แต่ถ้าไม่เหมาะสมให้ค่าคะแนนเป็น -1 ผลการวิเคราะห์แล้วปรับปรุงให้ได้แบบทดสอบจำนวน 30 ข้อ 4. นำข้อสอบที่ผ่านการคัดเลือกและปรับปรุงแล้วเรียบร้อยมาดำเนินการสอบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เคยเรียนเรื่องการเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลงมาแล้ว จำนวน 31 คน แล้วนำมาตรวจคำตอบและให้ค่าคะแนนและตรวจหาความยากง่ายและค่าอำนาจการจำแนกของแบบทดสอบแต่ละข้อด้วยโปรแกรม TAP ที่แนะนำโดย ผศ. ไพศาล สุวรรณน้อย วิเคราะห์เลือกเอาเฉพาะแบบทดสอบที่มีค่าการจำแนกเป็น 0.2 ขึ้นไปและค่าความยากง่ายของแบบทดสอบที่มีค่า 0.20-0.80 แล้วนำมาหาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบด้วยสูตร K-R20 ต่อไป 5. นำข้อสอบดังกล่าวมาคัดเลือกให้ตรงกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแล้วนำข้อสอบมาร่วมทดสอบเพื่อหาดัชนีประสิทธิภาพของการ์ตูนต่อไป

วิธีการสร้างเครื่องมือ

1. วิธีการสร้างเครื่องมือ -วิธีการผลิตหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน มีขั้นตอนดังนี้ 1. ศึกษาข้อมูลหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายพุทธศักราช 2544 2. วิเคราะห์คำอธิบายหลักสูตร รายวิชาชีววิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ในหน่วยการเรียนรู้ การเจริญเติบโตของไก่ เพื่อกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ขอบข่ายเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การออกแบสื่อการเรียนการสอน เพื่อศึกษาในครั้งนี้ 3. เรียบเรียงเนื้อหา เรื่อง การเจริญเติบโตของไก่ และพิจารณาวิเคราะห์ขอบเขตเนื้อหาที่เหมาะสมกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยพิจารณาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาซึ่งจะนำมาทำเป็นบทเรียนการ์ตูน 4. ศึกษาหลักการ แนวคิด ทฤษฎีและผลการวิจัย จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหนังสือการ์ตูน 5. ออกแบบวางโครงเรื่องบทเรียนการ์ตูน กำหนดบุคลิกของตัวการ์ตูนแต่ละตัวตลอดจนวางแผนสร้างภาพของการ์ตูนด้วยเทคนิคและวิธีต่างๆ 6. จัดทำต้นฉบับการ์ตูนสำหรับทำเป็นบทเรียนการ์ตูนที่ใช้สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แล้วนำเสนอผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อเพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะ 7. ปรับปรุงและจัดทำต้นฉบับจริงที่ใช้เป็นบทเรียนการ์ตูน แล้วนำเสนอผู้เชี่ยวชาญ 8. ปรับปรุงเทคนิคการผลิตตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ เป็นหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนฉบับจริงที่พร้อมจะนำไปใช้งาน เป็นเครื่องมือในการประกอบการศึกษาวิจัย เพื่อทดลองหาประสิทธิภาพของหนังสือการ์ตูน

เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา

1. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย -บทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 -แบบทดสอบก่อนและหลังเรียนแบบปรนัย 4 ตัวเลือก เรื่อง การเจริญเติบโตของไก่ การเจริญเติบโตของกบ และการเจริญเติบโตของแมลง อย่างละ 10 ข้อ 10 คะแนน -แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (5E) 3 แผน ประกอบด้วย 1. การเจริญเติบโตของกบ 2. การเจริญเติบโตของไก่ การเจริญเติบโตของแมลง

กลุ่มเป้าหมาย

1. กลุ่มเป้าหมาย เลือกกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจงได้ -นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 31 คน สำหรับการทดสอบหาประสิทธิภาพแบบทดสอบ -นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 43 คน สำหรับหาค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนการ์ตูน

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาการผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน วิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. แนวคิดที่เกี่ยวข้อง บรูเนอร์ (อ้างอิงในสำราญ พวงมาลัย, 2548) เชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดได้เมื่อผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และจะรับรู้สิ่งที่ตนเองเลือก หรือสิ่งที่ใส่ใจ การเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้เกิดการค้นพบความรู้เอง ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานดังนี้ -การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง -ผูเรียนแต่ละคนมีประการณ์และความรู้พื้นฐานที่แตกต่างกัน การเรียนรู้จะเกิดจากการที่ผู้เรียนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบใหม่กับความรู้เดิมแล้วนำมาสร้างเป็นความรู้ใหม่ Haber (1979) พบว่าบุคคลสามารถจดจำภาพได้ดีกว่าสิ่งเร้าชนิดอื่น เช่น การให้ดูภาพบุคคลต่างๆ ผลปรากฏว่าสามารถจดจำได้ ร้อยละ 90 Letfon & Vavatne (1992) อ้างใน สุวรี ศิวะแพทย์ (2550) กล่าวว่า ภาพเป็นสิ่งเร้าที่แตกต่างจากสิ่งเร้าประเภทอื่น เมื่อถูกนำเข้ารหัสจึงเป็นสิ่งเร้าที่เด่น สะดุดความคิดได้ง่าย ทำให้ฟื้นความจำได้เร็วกว่าสิ่งเร้าชนิดอื่น 2. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเขียนการ์ตูน 2.1 ความหมายของการ์ตูน เกษมา จงสูงเนิน (2523) กล่าวว่าการ์ตูนคือ ภาพวาดตัวแทนสัญลักษณ์ที่แสดงออกมามีความตลกขบขัน หรือล้อเลียนสังคม ซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดอารมณ์ แนวความคิด หรือแสดงความต้องการต่างๆ กรมวิชาการ (2534) อ้างในปรีชา เหล่าพันนา (2548) “การ์ตูน” เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษจากคำว่า “cartoon” หมายถึง แผ่นกระดาษที่มีภาพวาดต่อมาความหมายนี้เปลี่ยนแปลงไป เป็นภาพเชิงล้อเลียน เปรียบเปรย เสียดสี หรือการแสดงจินตนาการฝันเฟื่อง ประจวบ ฟักผล (2535) อธิบายความหมายของการ์ตูนว่า เป็นภาพวาดง่ายๆ ที่ไม่เหมือนของจริง ของคน สัตว์และสิ่งของ โดยอาศัยรูปร่างธรรมชาติในการสื่อความหมาย 2.2 หลักเกณฑ์ในการสร้างบทเรียนการ์ตูน วิริยะ สิริสิงห์ (2524) อ้างใน สำราญ พวงมาลัย (2548) กล่าวว่า การผลิตบทเรียนการ์ตูนจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบดังนี้ 1. สีของภาพ ผลการวิจัยส่วนมากทั้งในประเทสและต่างประเทศยอมรับว่ามีความสำคัญของภาพสี ในแง่ของการมีอิทธิพลต่อความต้องการอ่านและส่งผลต่อความชอบของเด็ก 2. ขนาดของภาพ ในการใช้ภาพในหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก ผู้ออกแบบมักเป็นห่วงเรื่องขนาดว่าขนาดใดที่เด็กชอบ ขนาดมีอิทธิพลต่อเด็กเพียงใด ภาพใหญ่ได้รับความสนใจจากเด็กมากกว่า ภาพเต็มหน้ากับภาพครึ่งหน้าเด็กก็ชอบเท่าๆกัน 3. ภาษาและตัวอักษร เด็กชอบตัวหนังสือที่ใช้ภาษาง่ายๆ ชอบคำซ้ำบ่อยๆ มีคำคล้องจองมีจังหวะในการเล่นคำ ชอบเรื่องที่มีตัวหนังสือน้อย ชอบใช้ตัวอักษรธรรมดา ไม่ชอบตัวอักษรแบบประดิษฐ์ -ขนาดตัวอักษร โดยหลักทางจิตวิทยา การรับรู้ในสายตอของเด็กนั้น จะเรียนรู้ในร่างหยาบๆ ไม่สนใจรายละเอียด หมายความว่าถ้าผู้อ่านอายุน้อยเพียงใดตัวอักษรต้องมีขนาดใหญ่ แต่หากเป็นเด็กโตตัวอักษรจะลดขนาดลง -สีของตัวอักษร หนังสือส่วนมากใช้ตัวอักษรสีดำพิมพ์บนพื้นขาว อย่างไรก็ตามความคำนึงถึงการตัดกันของสีตัวอักษรและสีพื้นด้วย -เนื้อเรื่อง เด็กชอบสนุก ขบขัน ชวนหัวเราะ แต่ไม่ต้องตลกหยาบคาย เรื่องไม่ต้องยาวเกินไป -กระดาษที่ใช้พิมพ์ ส่วนใหญ่ชอบกระดาษขาวที่หนามากกว่ากระดาษบาง -ขนาดรูปเล่ม หนังสือเล่มใหญ่กับเล่มเล็ก เด็กชอบเท่าๆ กัน แต่ชอบหนังสือปกแข็งมากกว่าปกอ่อน ความยาวควรอยู่ที่ 16-24 หน้า 2.3 ประโยชน์และโทษของการ์ตูนต่อการเรียนการสอน ประโยชน์ของการ์ตูน คณะนิสิตปริญญาโทเทคโนโลยีทางการศึกษา (2522) อ้างใน ปรีชา เหล่าพันนา (2549) กล่าวว่ามีผู้นำการ์ตูนมาใช้ประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการ์ตูนมีลักษณะที่น่าสนใจได้รวบรวมประโยชน์ของการ์ตูนเรื่องที่มีต่อการเรียนการสอน ดังนี้ 1. ทำให้นักเรียนสนใจเนื้อหาวิชามากขึ้น 2. ให้สอนเด็กเป็นรายบุคคล และทำให้การเรียนดีขึ้น 3. ฝึกการอ่านได้ดี 4. ทำให้นักเรียนสนใจในการอ่านมากขึ้น โทษของการ์ตูน ความทันสมัย และยุคโลกาภิวัฒน์ ความคิดของคนเขียนการ์ตูน เปลี่ยนแปลงไป การเขียนการ์ตูนทำเพื่อในเชิงธุรกิจ เนื้อหาและรูปแบบการ์ตูนจึงปลูกฝังทางลบกับผู้อ่าน เช่นการ์ตูนที่มีภาพลักษณะลามก ผิดศีลธรรม และใช้วาจาหรือคำอธิบายไม่สุภาพ เป็นต้น ทำให้เกิดผลเสีย สร้างพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ให้กับผู้อ่าน เช่น 1. การ์ตูนลามก ทำให้เกิดการฆาตกรรม และพฤติกรรมอื่นๆ ที่ผิดศีลธรรม 2. ภาษาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้นแบบของผู้อ่าน นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน 3. เนื้อหาไม่เหมาะสม ทำให้ผู้อ่านเก็บกด และเกิดการเลียนแบบ เป็นต้น 2.3 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เกษมา จงสูงเนิน (2527) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสนใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนด้วยการใช้กับไม่ใช้หนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนในการสอนตามคู่มือครูของ สสวท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนด้วยการใช้กับไม่ใช้หนังสือการ์ตูนประกอบบทเรียน ในการสอนตามคู่มือครูของนักเรียนของ สสวท. สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบุญวัฒนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2532 จำนวน 90 คน เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 45 คน แบ่งนักเรียนแต่ละกลุ่มตามระดับความสามารถสูง ปานกลาง และต่ำ โดยใช้เทคนิค 33 %ของเคอร์ตัน ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่เรียนด้วยการใช้กับไม่ใช้หนังสือการ์ตูนประกอบบทเรียนในการสอน ตามคู่มือครูของ สสวท. มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักเรียนที่เรียนด้วยการใช้หนังสือการ์ตูนประกอบบทเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่า ศราวุธ จักรเป็ง (2541) ศึกษาวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างการสอนโดยใช้หนังสือการ์ตูนกับการสอนปกติ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาภาษาไทยเรื่องสังข์ทอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างการสอนโดยหนังสือการ์ตูนกับการสอนแบบปกติ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ยูนิตดี 3 ) ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2540 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น(ศึกษาศาสตร์) จังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 ยูนิท จำนวน 198 คน เป็นกลุ่มเป้าหมาย 66 คน ผลการวิจัยพบว่าผลสัมฤทธืทางการเรียนวิชาภาษาไทยในเนื้อเรื่องสังข์ทอง ของกลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่ม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0 .05 โดย ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนกลุ่มที่สอนโดยใช้หนังสือการ์ตูนสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนแบบปกติ จีรนันท์ คงรักษา (2542) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้กับความคงทนในการจำโดยใช้สไลด์ประกอบเสียงภาพการ์ตูนและภาพเหมือนจริง วัตถุประสงค์คือศึกษาเปรียบเทียบความคงทนในการจำ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ศึกษาจากสไลด์ ประกอบเสียงภาพการ์ตูนกับภาพเหมือนจริง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2540 จากกลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา เขตสวนหลวง สังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 8 โรงเรียน มีลักษณะการเรียนการสอนแบบสหศึกษา และจัดนักเรียนแต่ละห้องแบบคละชายหญิง ไม่แบ่งกลุ่มคะแนนกลุ่มเป้าหมายได้มาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ได้ 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดทองใน โรงเรียนวัดใต้และโรงเรียนวัดปากบ่อ จำนวน 120 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆ 60 คน กลุ่มทดลองที่ 1 เรียนรู้จากสไลด์ประกอบเสียงภาพการ์ตูน กลุ่มทดลองที่ 2 เรียนรู้จากสไลด์ประกอบเสียงภาพเหมือนจริง ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มนักเรียนที่เรียนจากสไลด์ประกอบเสียงภาพการ์ตูน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ และมีความคงทนในการจำสูงกว่า กลุ่มนักเรียนที่เรียนจากสไลด์ประกอบเสียงภาพเหมือนจริง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 มานพ คูหาแก้ว (2542) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการเขียนรูปประโยคระหว่างการสอนโดยใช้แผ่นภาพการ์ตูนกับการสอนปกติของนักเรียน ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถ ในการเขียนรูปประโยคภาษาไทยระหว่างการสอนโดยใช้แผ่นภาพ การ์ตูนกับการสอนแบบปกติของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน สำหรับประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ระดับการได้ยินระหว่าง 80-100 เดซิเบล ในชั้นพิเศษของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ที่มีระดับสติปัญญาปกติและไม่มีความพิการอื่นๆ แทรกซ้อน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2541 ที่มีระดับการได้ยินระหว่าง 80-100 เดซิเบล ซึ่งมีระดับสติปัญญาปกติและไม่มีความพิการอื่นๆ แทรกซ้อนสุ่มโดยวิธีเจาะจง ศึกษาเฉพาะโรงเรียนพญาไท เขตราชเทวี จังหวัดกรุงเทพมหานครซึ่งมีนักเรียนในระดับนี้ 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 8 คน ผลการวิจัยพบว่าความสามารถในการเขียนประโยคหลังการเรียนของนักเรียนทั้งสองกลุ่มสูงขึ้น และนักเรียนที่เรียนจากภาพการ์ตูนล้อของจริงมีความสามารถในการเขียนรูปประโยคสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากบัตรคำอย่างเดียว เพลน กรองทอง (2542) ศึกษาวิจัยเรื่อง การสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหว วิชาภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนกับหลังการสอนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหว สำหรับกลุ่มเป้าหมายประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประชานิเวศน์ กรุงเทพมหานคร จำนวน 4 ห้องเรียน รวม 180 คน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประชานิเวศน์ สังกัดกรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2542 โดยคัดเลือกนักเรียนมา 1 ห้องเรียน จำนวน 45คน ผลการวิจัยพบว่าประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหววิชาภาษาอังกฤษ เรื่อง คำบุพบท มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ หลังเรียน โดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวเรื่อง คำบุพบท สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 วิมลรัตน์ ศรีสุข (2543) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาพัฒนาการของการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ และคุณลักษณะทางจิตพิสัยที่พึงประสงค์ด้านความมีน้ำใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการสอนโดยวิธีการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ด้วยบทเรียนการ์ตูน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการ-สอนโดยวิธีการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ด้วยบทเรียนการ์ตูนและสำรวจคุณลักษณะทางจิต-พิสัยที่พึงประสงค์ด้านความมีน้ำใจหลังจากเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่องฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึมโดยวิธีการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ด้วยบทเรียนการ์ตูน สำหรับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ห้อง 3 และห้อง 6 ปีการศึกษา 2543 จำนวน 83 คน ผลการวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบก่อนเรียนและค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบหลังเรียนมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และพบว่าหลังจากเรียนแบบร่วมมือกันเรียนบทเรียนการ์ตูนมีการปฏิบัติที่แสดงถึงความมีน้ำใจระดับปานกลางหรือพอใช้ได้ ทับทิม สุริยสุภาพงษ์ (2544) ศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมทักษะในการอ่านจับใจความภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการสอนแบบปกติและใช้บทเรียนการ์ตูน สำหรับกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2545 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง)จำนวน 98 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและทดลองกลุ่มละ 49 คน ผลการวิจัยพบว่าทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 โดยกลุ่มที่ใช้การเรียนแบบบทเรียนการ์ตูนมีผลการเรียนที่ดีกว่า เนตรนภิศ สนองคุณ (2544) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาที่เรียนโดยใช้แผ่นภาพการ์ตูน ที่ใช้แผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบและแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบกับแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงาเพื่อเน้นสาระสำคัญ สำหรับประชากรเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลยุคลธร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กรุงเทพมหานคร จำนวน 90 คน กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลยุคลธร กรุงเทพมหานคร ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2544 จำนวน 40 คน โดยใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย จากกลุ่มเป้าหมายที่สุ่มมาได้ 40 คน ทำการสุ่มโดยการจับสลาก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน ได้แก่ กลุ่มทดลองที่ 1 เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบ กลุ่มทดลองที่ 2 เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงา ผลการวิจัยพบว่าแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบมีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.50/86.50 และแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงามีประสิทธิภาพเท่ากับ 93.00/91.50 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้จากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบแสงเงามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและมีความก้าวหน้าทางการเรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากแผ่นภาพการ์ตูนที่ใช้ตัวชี้นำแบบตีกรอบ บรรเจิด พรศิริรัตน์ (2545) ศึกษาเรื่องเจตคติของนักเรียนระดับประถมศึกษาต่อหนังสือการ์ตูน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเจตคติของนักเรียนระดับประถมศึกษาต่อหนังสือการ์ตูนไทย ฝรั่งและญี่ปุ่น การสุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย 499 คน เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ในจังหวัดอุดรธานี ผลการวิจัยพบว่าเด็กไทยชอบสำนวนการ์ตูนไทยแต่ชอบรูปภาพของการ์ตูนญี่ปุ่นในระดับปานกลาง สมาน เขียวเขว้า (2544) ศึกษาวิจัยเรื่องการผลิตหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเรื่อง จังหวัดของเรา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เรื่อง จังหวัดของเรา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพโดยผลการทดลองมีค่าดัชนีประสิทธิผล 0.50 ขึ้นไปสำหรับประชากรเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหนองฉิม (สิงห์จันทร์บำรุง) อำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ ปีการศึกษา 2543 จำนวน 2 ห้องเรียน นักเรียน 72 คน กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2543 โรงเรียนบ้านหนองฉิม (สิงห์จันทร์บำรุง) อำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 43 คน โดยการจัดกลุ่มนักเรียนตามความสามารถทางการเรียน และสุ่มอย่างง่าย ผลการวิจัยพบว่าผลการศึกษาพบว่า การผลิตหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน ได้ค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.55 แสดงว่าหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เรื่อง จังหวัดของเรา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนได้ ปรีชา เหล่าพันนา (2549) ศึกษาเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่ไม่ถนัดวิชาคณิตศาสตร์ด้วยบทเรียนการ์ตูน โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อพัฒนาบทเรียนการ์ตูนและเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของสาระคณิตศาสตร์โดยเฉพาะนักเรียนที่ไม่ถนัดวิชาคณิตศาตร์ สำหรับประชากรเป็นนักเรียนในระดับช่วงชั้นที่ 3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบำเหน็จณรงค์วิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ ปีการศึกษา 2546 จำนวน 270 คน และกลุ่มเป้าหมายถูกสุ่มมาอย่างเจาะจงเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างมีปัญหา โดยเลือกห้องที่มีปัญหามากที่สุด ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนการ์ตูนมีผลการเรียนที่ดีกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ 0.05 ธวัชชัย ศรวิชัย (2550) ศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาแผนการเรียนรู้โดยใช้หนังสือการ์ตูน เรื่องฆราวาสธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัมนาแผนการจัดการเรียนรู้ที่ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 มีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้างยางน้อยตองปิด จังหวัดศรีสะเกษ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 ผลการวิจัยปรากฏว่าได้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพตามที่ได้กำหนดไว้ อำไพพิศ เกตุวงศ์ (2550) ศึกษาวิจัยเรื่อง รายงานการสร้างและการใช้หนังสือประกอบภาพการ์ตูน เรื่อง ทิศ 6 และพรหมวิหาร 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหนังสือประกอบภาพการ์ตูนให้มีประสิทธิภาพแบบ 80/80 สำหรับประชากรที่ใช้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหลักเมืองมหาสารคาม ปีการศึกษา 2549 จำนวน 414 คน และกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหลักเมืองมหาสารคามที่กำลังศึกษาในปีการศึกษา 2549 จำนวน 45 คนที่ถูกสุ่มมาแบบกลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า หนังสือการ์ตูนเรื่อง ทิศ 6 และพรหมวิหาร 4 ที่ผลิตขึ้นมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 91.33/90.15 ดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.57

ที่มาและความสำคัญ

บทที่ 1 บทนำ 1. ที่มาและความสำคัญ การศึกษาคือความหวังในการสร้างคนที่มีคุณภาพของประเทศ ดังนั้นการศึกษาจึงต้องสนองต่อความต้องการของประชาชนซึ่งมีความคาดหวังที่สูงขึ้นเรื่อยมา จากยุคสมัยที่รัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุคทองแห่งการการปฏิรูปการปกครองและการศึกษา คนคาดหวังให้พออ่านออกเขียนได้ ในสมัยรัชกาลที่ 7 รู้เพื่อพอแค่สำหรับการทำมาหากินได้เท่านั้นเอง ยุค พ.ศ. 2500 รู้เอาตัวรอดทันคนในสังคม ยุค พ.ศ. 2525 ต้องจัดสรรการเรียนรู้ในองค์กร ยุค พ.ศ. 2540 สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในยุค พ.ศ. 2550 รู้ดีเยี่ยมแข่งขันได้ในเวทีโลก และในอนาคตอันใกล้ คาดหวังว่าคนไทยจะเป็นเอกทางการศึกษา (จรวยพร ธรนินทร์, 2550) ประเทศไทยถูกจัดอันดับทางการศึกษาในลำดับที่ 46 จาก 190 ประเทศทั่วโลก และพบว่าสัดส่วนของครูและนักเรียนไม่สมดุลกัน ครูมีจำนวนความรับผิดชอบต่อเด็กมากกว่าปกติ คือ 1: 21 ในทางการศึกษาด้านวิทยาศาตร์ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 32 จากประเทศที่เข้าร่วมจัดลำดับทั้งหมด 42 ประเทศ (จรวยพร ธรนิทนร์, 2550) ในการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ พบว่าสื่อมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น แต่ในสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยยังต้องพึ่งสื่อเอกสารมากกว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่เนื่องจากว่าความจำกัดทางด้านงบประมาณ ดังนั้นสื่อสิ่งพิมพ์จึงยังมีความสำคัญต่อการศึกษาไทย (สังคม ภูมิพันธ์ และคณะ, 2548) ปัจจุบันผู้เรียนในช่วงชั้นที่ 3 และ4 ร้อยละ 90 พบว่ามีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือการ์ตูนแปลมาจากภาษาญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งเวลาเรียนยังแอบอ่านอยู่ จนเป็นสาเหตุให้ผลการเรียนตกต่ำ อีกทั้งเกิดการเสื่อมถอยทางวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ครูและผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการแนะนำและห้ามปรามผู้เรียนให้เลือกอ่านแต่หนังสือที่ดีที่มีประโยชน์มากกกว่า และรู้จักนำเสนอข้อดีข้อเสียของการ์ตูนให้เด็กทราบ ด้วยวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งใดๆของทั้งสองฝ่าย (สนิท แคร่กระโทก, 2533) ดังนั้นผู้วิจัยจึงเล็งเห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทการ์ตูนมีบทบาทอย่างมากต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้สอนหรือครูสามารถดึงเอาจุดน่าสนใจของการ์ตูนมาเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนได้ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนด้วย โดยเฉพาะในการสอนวิชาชีววิทยานั้นผู้เรียนให้ความเห็นว่าวิชาวิทยาศาสตร์ต้องมีการเรียนรู้แบบท่องจำ เมื่อทำไม่ได้ก็ท้อ เกิดความไม่อยากเรียนรู้ขึ้นมาเลยเหมารวมวิชาวิทยาศาสตร์ว่าต้องจำให้ได้ และท่องเก่ง สำหรับสาเหตุหลักของการไม่ชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ (สำราญ พวงมาลัย, 2548)ได้แก่ 1. ด้านผู้สอนขาดเทคนิคและวิธีการที่ดีในการสอน ขาดความเอาใจใส่ในการสอนอย่างเต็มที่ซึ่งพบว่าครูส่วนใหญ่ไม่สอนตามแผนการสอนของสสวท. ไม่รู้จักเชื่อมโยงความรู้ใหม่และเก่าเข้าด้วยกันกับความรู้ที่เป็นปัจจุบัน และมีการสอนแบบเน้นครูเป็รศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติที่เน้นการท่องจำบทเรียนให้กับเด็กอย่างไม่รู้ตัว 2. ด้านผู้เรียน พบว่าผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการรับฟังหรือจดบันทึก ทำให้เกิดการเรียนรู้หรือจดจำเนื้อหาได้แค่เพียงในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากไม่ได้เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการสืบเสาะแสวงหาด้วยตนเอง เพราะขาดความรับผิดชอบเอาใจใส่ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะนำเอาความรู้ใหม่มาผนวกกับความรู้เดิมที่มีอยู่ได้ 3. ด้านเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ ในเรื่องที่เป็นทฤษฎี ไม่มีการปฏิบัติ หรือการทดลองเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับผู้เรียน ทำให้ขาดความสนในเนื้อหาได้ 4. ด้านสภาพแวดล้อม บรรยากาศของบริเวณโรงเรียน สื่อการเรียนการสอน สภาพห้องเรียนที่น่าเบื่อจำเจซ้ำซาก ล้วนแต่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งนั้น จากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว และยังพบว่ามีการผลิตสื่อบทเรียนการ์ตูนในรายวิชาอื่นๆ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์บ้างแล้ว แต่สื่อบทเรียนการ์ตูนยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย ผู้วิจัยจึงมีความสนใจในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนด้วยการใช้สื่อการสอนประเภทบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่และแมลง ควบคู่กับการนำเสนอด้วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ และดึงดูดให้เกิดความอยากเรียนในเนื้อหา และลดความเข้าใจผิดที่ว่าชีววิทยาเป็นวิชาที่ต้องท่องจำ นอกจากนี้การนำการ์ตูนเข้ามามีบทบทาทในการเรียนรู้อีกหนทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะในการอ่านอีกด้วย วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. เพื่อผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน วิชา ชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 2. เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนก่อนและหลังเรียนเมื่อใช้บทเรียนการ์ตูนเป็นสื่อการสอน ในรายวิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของไก่ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 1. บทเรียนการ์ตูนที่เป็นประโยชน์ใช้ในการเผยแพร่ทางการศึกษา 2. ตัวอย่างที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการวิจัยเพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนในเรื่องอื่น หรือรายวิชาอื่นๆ ต่อไป คำถามวิจัย การใช้บทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลงจะช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือไม่ ขอบเขตของการศึกษา 1. กลุ่มเป้าหมาย -นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 31 คน สำหรับการทดสอบหาประสิทธิภาพแบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง -นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 42 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับผลการเรียนเฉลี่ย คือ กลุ่มสูง กลุ่มกลาง และกลุ่มต่ำ จำนวนกลุ่มละ 14 คน สำหรับการทดสอบหาค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนการ์ตูน 2. เนื้อหาวิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ การเจริญเติบโตของไก่ และการเจริญเติบโตของแมลง 3. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 3.1 บทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 3.2 แบบทดสอบก่อนและหลังเรียนแบบปรนัย 4 ตัวเลือก เรื่อง การเจริญเติบโตของไก่ การเจริญเติบโตของกบ และการเจริญเติบโตของแมลง อย่างละ 10 ข้อ 10 คะแนน 3.3 แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (5E) 3 แผน ประกอบด้วย 3.3.1. การเจริญเติบโตของกบ 3.3.2. การเจริญเติบโตของไก่ 3.3.3. การเจริญเติบโตของแมลง 4. ข้อตกลงเบื้องต้น -บทเรียนการ์ตูน หมายถึง หนังสือการ์ตูนที่ใช้อ่านประกอบการเรียนการสอนที่สร้างขึ้นโดยมีภาพการ์ตูนดำเนินเรื่องราว ทำรูปเล่มเป็นขนาดกระดาษ A4 มีการสนทนาของตัวการ์ตูนในหนังสือซึ่งมีความสอดคล้องกับ เนื้อหาเรื่อง การเจริญเติบโตของกบไก่ และแมลง สำหรับประกอบการเรียนการสอนทั้งกอ่นเรียน และขณะเรียน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 -แบบทดสอบ หมายถึง แบบทดสอบเรื่อง การเจริญเติบโตของกบไก่ และแมลงที่ประกอบด้วยข้อสอบแบบปรนัยแบบ 4 ตัวเลือก เรื่องละ 10 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน -ค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนการ์ตูน (E.I. : The Effectiveness Index) หมายถึง ตัวเลขที่แสดงถึงประสิทธิภาพที่จะเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนหลังจากที่เรียนรู้ด้วยบทเรียนการ์ตูนแล้ว ซึ่งมีค่ามากกว่า 0.50 ขึ้นไปจึงจะมีประสิทธิภาพที่ยอมรับได้

สารบัญตาราง

สารบัญตาราง หน้า การเจริญเติบโตของกบ ตารางที่ 1 คะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนจากการทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง 19 ตารางที่ 2 คะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนจากการทดลองแบบกลุ่มย่อย 20 ตารางที่ 3 คะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนจากการทดลองแบบภาคสนาม 21 ตารางที่ 4 สรุปค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) ของบทเรียนการ์ตูนทั้ง 3 การทดลอง 22 การเจริญเติบโตของไก่ ตารางที่ 5 คะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนจากการทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง 23 ตารางที่ 6 คะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนจากการทดลองแบบกลุ่มย่อย 24 ตารางที่ 7 คะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนจากการทดลองแบบภาคสนาม 25 ตารางที่ 8 สรุปค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) ของบทเรียนการ์ตูนทั้ง 3 การทดลอง 26 การเจริญเติบโตของแมลง ตารางที่ 9 คะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนจากการทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง 27 ตารางที่ 10 คะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนจากการทดลองแบบกลุ่มย่อย 28 ตารางที่ 11 คะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียนจากการทดลองแบบภาคสนาม 29 ตารางที่ 12 สรุปค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) ของบทเรียนการ์ตูนทั้ง 3 การทดลอง 30

สารบัญ

สารบัญ



หน้า

บทคัดย่อภาษาไทย ก

บทคัดย่อภาษาอังกฤษ ข

กิตติกรรมประกาศ ค

สารบัญตาราง ฉ

บทที่ 1 บทนำ 1

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา 1

วัตถุประสงค์ของการศึกษา 2

ขอบเขตของการศึกษา 3

นิยามศัพท์เฉพาะ 4

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 5

กิตติกรรมประกาศ

กิตติกรรมประกาศ รายงานการวิจัยในชั้นเรียนนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เนื่องด้วยความอนุเคราะห์ในหลายด้านของท่านรองศาตราจารย์ วิมล สำราญวานิช อาจารย์ที่ปรึกษาการวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งได้ให้คำแนะนำระเบียบวิธีการวิจัย ให้คำปรึกษาตรวจทาน แก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ขอขอบพระคุณรองศาตราจารย์ ชุติมา หาญจวนิช เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาและตรวจทานแบบทดสอบ ขอขอบพระคุณอาจารย์ยุพา ผึ่งฉิมพลี อาจารย์พี่เลี้ยงประจำวิชาชีววิทยาขณะฝึกประสบการณ์สอนวิชาชีววิทยา ที่ตรวจทานแบบทดสอบ แผนการสอน ขอขอบพระคุณครู-อาจารย์ทุกท่านที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ศิษย์ขอขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำวิจัย สุวิทย์ ดิษฐเนตร

abstract

Title of Classroom research : THE CONSTRUCTION OF COMIC BOOKS ENTITLED “GROWTH AND DEVELOPMENT OF FROG CHICK AND INSECT” IN BIOLOGY FOR MATHAYOMSUKSA V STUDENTS Researcher : Mr. Suwit Disthanate Advisors : Associated Professor Wimol Samranwanich Yupa Puengchimplee Abstract The purposed of this study was a produced the comic books for teaching in Biology on “Growth anad Development of Frog, Chick and Insect ” for Mathayomsuksa V students The sample group consisted of 42 students of Nakorn Khon Kaen School, Khon Kaen Province, who were studying in Mathayomsuksa V in The second of the academic year 2007 and were selected to try-out in this study. The sample group was deviced students for trying-out as One-to-One Testing (3 students), Small Grouop Testing (9 students) and Field-Testing (30 students) respectively. The effectiveness index of comic books of One-to-One Testing; Growth and Development of Frog, Chick and Insect are 0.45, 0.56 and 0.28. The effectiveness index of comic books of Small Group Testing; Growth and Development of Frog, Chick and Insect are 0.45, 0.56 and 0.28. The effectiveness index of comic books of Field-Testing; Growth and Development of Frog, Chick and Insect are 0.5, 0.7 and 0.42. So, the effectiveness index of comic books ; Growth and Development of Frog, Chick and Insect are 0.5, 0.7 and 0.42. and can be used in teaching in Mathayomsuksa V students for summative score increasing at 0.05

บทคัดย่อ

ชื่อเรื่องวิจัยในชั้นเรียน : การผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน วิชา ชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผู้วิจัย : นายสุวิทย์ ดิษฐเนตร อาจารย์ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ วิมล สำราญวานิช อาจารย์ ยุพา ผึ่งฉิมพลี บทคัดย่อ การวิจัยในชั้นเรียนครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อผลิตบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอน วิชา ชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทั้งก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยบทเรียนการ์ตูน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการหาประสิทธิภาพบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนในครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนนครขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น จำนวน 42 คน ได้ทำการทดลองหาประสิทธิภาพบทเรียนการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา เรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลง สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยแบ่งเป็้น 3 ขั้นตอน คือ การทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง จำนวน 3 คน ได้ค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.43, 0.68 และ 0.17 ตามลำดับ การทดลองแบบกลุ่มย่อย จำนวน 9 คน ได้ค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.45, 0.56 และ 0.28 ตามลำดับ และการทดลองภาคสนาม จำนวน 30 คนได้ค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.5, 0.7 และ 0.42 ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าการผลิตหนังสือการ์ตูนประกอบการเรียนการสอนเรื่อง การเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลงได้ค่าค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.5, 0.7 และ 0.42 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าบทเรียนการ์ตูนเรื่อง การเจริญเติบโตของกบ แและไก่มีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ประกอบการสอนได้ และพบว่าการนำบทเรียนการ์ตูนมาใช้สอนสามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการเจริญเติบโตของกบ ไก่ และแมลงอย่างมีนัยสำคัญที่ 0.05

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

แผนการสอนชีววิทยา

แผนการสอนชีววิทยา

สมัครสมาชิก